phone
Call us now02-761-9936
Post

เทรนด์ผู้บริโภคยุค COVID-19


ปี 2021 กลายเป็นปีที่มีความไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ที่ร้อนแรงในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ COVID-19 ภัยพิบัติ เศรษฐกิจถดถอย และสถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลให้ผู้บริโภคต่างก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม "New Normal" เช่นชีวิตการทำงาน การบริโภค การจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยวท่องเที่ยว โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 ได้สร้างโอกาสในการทำการตลาดให้อีกหลายธุรกิจ อีกทั้งเป็นแรงกดดันและเป็นตัวเร่งให้การตลาดออนไลน์ก็ต้องปรับตัวตาม 

 

นอกจากนี้ต้องจับตาเรื่องวัคซีนต้าน COVID-19 ซึ่งเป็น New Hope ที่จะมาช่วยกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งในประเทศไทยจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนล็อตแรกในเดือนมีนาคม และมีแนวโน้มที่จะฉีดวัคซีนในประชาชนครบทั้งประเทศในปี 2565 ขณะเดียวกันรัฐบาลเริ่มมีการลดมาตรการล็อคดาวน์และสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องวิเคราะห์คือเทรนด์ผู้บริโภคยุค COVID-19 ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่ง Sampedia by Samsonite เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้รวบรวมและสรุปเป็น 5 เทรนด์ผู้บริโภคในยุค COVID-19 เพื่อให้นักธุรกิจได้จับกระแสดูว่ามีโอกาสอะไรซ่อนอยู่ในวิกฤตครั้งนี้

1. เทรนด์การอยู่บ้านมากขึ้น

ผู้บริโภคจำนวนมากจำเป็นต้อง Work From Home , Study From Home หรือลดการออกจากบ้าน ทำให้ผู้บริโภคอาจต้องการเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่บ้านได้อย่างตรงไลฟ์สไตล์ และสร้างบรรยากาศบ้านให้น่าอยู่มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านเครื่องมือที่ใช้เมื่ออยู่บ้าน จึงมีความต้องการขึ้นมาอย่างมาก เช่น อุปกรณ์ไอที ของใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์แต่งบ้าน ระบบแอร์ เครื่องเขียน เครื่องครัว อุปกรณ์กันขโมย บริการซ่อมแซมบ้าน ถุงขยะ และต้นไม้ เป็นต้น

เนื่องจากในช่วงล็อกดาวน์ ผู้บริโภคเลือกที่จะซื้อของผ่านทาง E-Commerce ซึ่งผู้บริโภคก็ได้สัมผัสประสบการณ์ในการซื้อแบบใหม่ และหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ อาจมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่กลับไปซื้อทางออฟไลน์อีก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่นักการตลาดจะใช้ข้อมูลลูกค้าที่ได้จากตอนขายออนไลน์ มาทำกลยุทธ์ต่อในการหาทางเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือลูกค้าเก่าที่คุ้นเคยกับสินค้า มากกว่าจะดึงลูกค้าใหม่จากแบรนด์อื่น เพื่อที่จะได้ทำตลาดกับลูกค้าอย่างถูกต้อง

ดังนั้นจึงเป็นยุคทองของ E-Commerce หรือการตลาดออนไลน์อย่างแท้จริง โดยในปี 2563 E-Commerce ไทยมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นกว่า 7% มีมูลค่าสูงถึง 5.4 แสนล้านบาท และมีสถิติเปิดเผยว่าคนไทยใช้เวลาออนไลน์พุ่งขึ้นถึง 4.6 ชั่วโมงต่อวันในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 อยู่ที่ 3.7 ชั่วโมงต่อวัน (ข้อมูลจากศูนย์เอสเอ็มอี ธนาคารกรุงเทพ) ส่วนแพลตฟอร์ม Social Media ที่คนไทยใช้มากที่สุดคือ YouTube 94.2%, Facebook 93.3%, Line 86.2%, Facebook Messenger 77.1%, Instagram 64.2%, Twitter 57.8% และ TikTok 54.8% (ข้อมูลจาก We Are Social - Thailand Report)

 

เนื่องจากในช่วงล็อกดาวน์ ผู้บริโภคเลือกที่จะซื้อของผ่านทาง E-Commerce ซึ่งผู้บริโภคก็ได้สัมผัสประสบการณ์ในการซื้อแบบใหม่ และหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ อาจมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่กลับไปซื้อทางออฟไลน์อีก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่นักการตลาดจะใช้ข้อมูลลูกค้าที่ได้จากตอนขายออนไลน์ มาทำกลยุทธ์ต่อในการหาทางเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือลูกค้าเก่าที่คุ้นเคยกับสินค้า มากกว่าจะดึงลูกค้าใหม่จากแบรนด์อื่น เพื่อที่จะได้ทำตลาดกับลูกค้าอย่างถูกต้อง

2. เทรนด์รักสุขภาพ ดูแลตัวเองมากขึ้น
เป็นที่ชัดเจนว่าพฤติกรรมของคน Gen X และ Gen Z หันมาห่วงใยสุขภาพมากขึ้น เพราะแน่นอนว่าทุกคนกำลังตื่นตระหนกกับ COVID-19 และในช่วงนี้ไม่มีใครอยากเจ็บป่วยอะไรเลย เป็นอะไรก็ไม่อยากไปโรงพยาบาล คนมีปัญหาเรื่องฟันก็ไม่อยากไปหาหมอฟัน จึงต้องดูแลตัวเองมากกว่าปกติ สวนดุสิตโพล เผยว่า คนไทยหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ร้อยละ 68.10 ในปี 2020 และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 59.38 สิ่งที่ดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ คือ การป้องกันตัวเองจาก COVID-19 ร้อยละ 89.48 รองลงมาคือ อาหารการกิน ร้อยละ 68.52 เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานวิตามินและอาหารเสริม และการออกกำลังกาย ร้อยละ 62.33 จากคนที่ไม่เคยออกกำลังกายก็หันมาฟิตหุ่น เข้าฟิตเนส และจ้างเทรนเนอร์เพื่อเทรนตัวต่อตัว สะท้อนให้เห็นกว่าการดูแลสุขภาพไม่ใช่แค่ไลฟ์สไตล์ แต่กลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับยุคนี้ 

 

จากการสังเกตของ Sampedia by Samsonite หลายธุรกิจมีการเปิดเว็บไซต์ และขายของออนไลน์สินค้าในกลุ่ม Health & Wellness ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ อาหารสะอาด ยาเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องออกกำลังกาย ดัมเบล ลู่วิ่ง อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์วัดไข้ Face Shield ประกันสุขภาพ เป็นต้น อันที่จริงแล้ว ยังมีสินค้าหรือบริการในกลุ่มนี้อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นนักธุรกิจจำเป็นต้องคอยสังเกตเทรนด์การตลาดออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ยิ่งในยุค New Normal ที่หลายคนได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ มากขึ้นและเกี่ยวข้องกับช่องทางออนไลน์และระบบดิจิทัลด้วยกันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ ที่ก่อนยุค New Normal ทำการตลาดเน้นโฟกัสไปที่ตลาดออฟไลน์เป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤต ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดภาคธุรกิจหันมาสนใจทำตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น

3. เทรนด์ไม่กินข้าวนอกบ้าน

 

จากความนิยมของผู้บริโภคในการใช้แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ทำให้ธุรกรรมในตลาดเติบโตเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ พบว่า มีจำนวนร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 ร้านต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ปี 2020 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเติบโตสูงถึง 66- 68 ล้านครั้งหรือขยายตัวสูงถึงร้อยละ 78.0-84.0 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ดังนั้นธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะรายใหญ่ได้มีการปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจและการลงทุน เช่น การลดจำนวนการขยายร้านอาหารประเภทการให้บริการเต็มรูปแบบ โดยหันมาเปิดร้านขนาดเล็ก หรือแบบ Kiosk การปรับขั้นตอนปฏิบัติและรูปแบบร้านให้รองรับการสั่งอาหารไปยังที่พัก เป็นต้น อีกทั้งการเข้ามาของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารรายใหม่ น่าจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้ให้บริการในการกระตุ้นตลาด

4. เทรนด์ Online Event

 

แน่นอนว่าจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยู่กับบ้าน อยู่กับที่นาน ๆ ก็เริ่มเกิดอาการเบื่อ เมื่อคนเบื่อก็ต้องหาเครื่องมือแก้เบื่อ แก้ความจำเจ ทำให้ตัวเองสามารถใช้เวลาไปอย่างมีความสุขมากขึ้น ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจึงปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น เช่นการจัดทริปเสมือนจริงนี้ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบเจาะลึกราวกับได้ไปสัมผัสด้วยตาตนเอง นอกจากนี้การขายของออนไลน์เกี่ยวกับสันทนาการ สิ่งบันเทิง จึงได้รับความต้องการอย่างมากในช่วงนี้ เว็บไซต์ที่มีการขายอุปกรณ์บันเทิงต่าง ๆ ก็มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก เช่น เกม หนังสือ เครื่องดนตรี งานอดิเรกต่าง ๆ เป็นต้น การแก้เครียดโดยช้อปปิ้งออนไลน์ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งของผู้บริโภค หรือการจัด E-Party และ E-Meeting ก็มีการทำกันอย่างมาก นักธุรกิจต้องลองคิดดูว่ามีอะไรในกลุ่มนี้ต่อยอดได้อีก ถ้าปรับตัวทำการตลาดออนไลน์ได้เร็วกว่า ก็ขายได้ดีกว่า

5. เทรนด์ความกังวลด้านจิตใจ
เนื่องจากวิกฤต COVID-19 ระบาดไปทั่วโลกกินเวลามากกว่า 1 ปี ซึ่งสร้างความเสียหายในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสภาพจิตใจของผู้คนที่ต้องหวาดระแวงตลอดเวลา วิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทุกเช้าต้องตื่นมาใช้ชีวิตด้วยความวิตกกังวลว่า ติดเชื้อหรือยัง จะตกงานไหม จะมีกำไรจากการค้าขายเท่าไร หรืออนาคตจะเกิดอะไรขึ้น 

ซึ่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความหดหู่ มีความเครียด มีความกังวลด้านจิตใจ และด้วยวัฒนธรรมของคนไทยที่มีความใกล้ชิดกับศาสนา ไหว้พระ ทำบุญ บริจาค ดูดวง หลายท่านที่แต่ก่อนไม่เชื่อเรื่องโหราศาสตร์ ก็อ่านบทความด้านนี้มากขึ้น ดูแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเมื่อไร และยังมีการปรึกษาจิตแพทย์กันมากขึ้น ดังนั้น การเปิดเว็บไซต์ขายของออนไลน์ในกลุ่มสินค้าช่วยเรื่องนอนหลับ หรืออุปกรณ์ผ่อนคลายความกังวลต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการตลาดออนไลน์ในช่วงนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคจะวนเป็นวงจร กล่าวคือ หากยิ่งเครียด ก็จะยิ่งเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องหาที่พึ่งทางใจด้วยการดูดวง บูชาพระเครื่องวัตถุมงคล ใส่เสื้อสีมงคล หรือตระเวนไหว้พระเสริมดวงตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ขอพรเรื่องงานที่แยกราชประสงค์, ขอเรื่องความรักที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ยังมีสายการบินออกโปรแกรมทัวร์สำหรับสายมู ทั้งแคมเปญสวดมนต์บนฟ้า จากการบินไทย ที่จะบินผ่านวัดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 99 แห่งทั่วไทย และแคมเปญ FlynRide เส้นทางสายมู จากนกแอร์ ที่พร้อมพาผู้ใช้บินตรงไปยังวัดเจดีย์ไอ้ไข่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดี 

 

สุดท้ายนี้หลายธุรกิจกำลังเร่งปรับตัวตามเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค ไปขายของออนไลน์ในกลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดยุค COVID-19 แต่บางธุรกิจมองข้ามไปถึงยุคหลัง COVID-19 ที่เริ่มมีการกระจายวัคซีน COVID-19 ให้ครบทุกราย โดยวางแผนกันแล้วว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงต่อไปจะเป็นอย่างไร การตลาดออนไลน์จะไปในทิศทางใด ซึ่งเทรนด์ผู้บริโภคยุค COVID-19 เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ไปไกลกว่าเรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการปรับตัว อย่างไรก็ตามทุกข้อล้วนเป็นส่วนที่เราทุกคนต้องรับมือให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องของความไม่แน่นอน ซึ่งดูจะกลายเป็นสิ่งปกติสำหรับคนยุค COVID-19 ไปแล้ว

ที่มา :    ธนาคารแห่งประเทศไทย
            ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์
            ศูนย์เอสเอ็มอี ธนาคารกรุงเทพ    
            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
            สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
            BBC Thailand
            We Are Social